นั่งทำงานเกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน?

แชร์
HEALTH

นั่งทำงานเกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน?

          ใครที่ชอบนั่งทำงาน หรือนั่งจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งนานเกินไป พิจารณาข่าวนี้ให้ดี ๆ เพราะล่าสุดมีนักวิจัยทางการแพทย์สหรัฐออกมาบอกว่า การนั่งทำงานรวดเดียวเป็นเวลานานหลายชั่วโมง ถึงแม้จะออกกำลังกายประจำ ก็ยังเสี่ยงอายุสั้นอยู่ดีงานวิจัยข้างต้น แพทย์หญิงกรุณา อธิกิจ อายุรกรรมทั่วไป โรงพยาบาลปิยะเวท ได้กล่าวว่า การนั่งนาน ๆ เป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยการศึกษาวิจัยพบว่า ผู้ชายที่นั่งทำงานอยู่กับที่มากเกินไป เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจถึง 2 เท่า และเสียชีวิตจากโรคหัวใจเทียบกับการทำงานที่ต้องเดิน สอดรับกับการศึกษาจากสมาพันธ์มะเร็งอเมริกา ที่ทำการศึกษาถึงเวลานั่งและการออกกำลังกาย กับอัตราการเสียชีวิตองอาสาสมัครระหว่างปี 1993-2006 ของอาสาสมัครชายหญิงจำนวน 53,440 และ 69,776 คนตามลำดับ ซึ่งไม่มีใครเป็นโรคมะเร็ง โรคหัวใจ อัมพาต และโรคปอดเลย
โดยระหว่างช่วงทำการศึกษาทีมวิจัยพบว่า ยิ่งนั่งพักนานเท่าไรยิ่งเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิง มีรายงานว่าผู้หญิงที่นั่งเกินวันละ 6 ชม. เสี่ยงเสียชีวิตสูงกว่าผู้หญิงที่นั่งวันละ 3 ชม. หรือประมาณ 37 เปอร์เซ็นต์ ส่วนผู้ชายที่นั่งนานเกินวันละ 6 ชม. มีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าผู้ชายที่นั่งวันละ 3 ชม. หรือประมาณ 18 เปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์นี้ไม่เปลี่ยนแปลงหลังหักลบเวลาออกกำลังกาย นอกจากนั้นยังพบว่า อาสาสมัครส่วนใหญ่เสียชีวิตเพราะโรคหัวใจมากกว่าโรคมะเร็ง ดังนั้นไม่ว่าจะออกกำลังกาย 30-60 นาที แต่หากใช้เวลาที่เหลือของวันกับการนั่งนาน ๆ ย่อมมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและเสียชีวิตได้
ไม่เพียงแค่โรคหัวใจเท่านั้น การนั่งนาน ๆ ติดต่อกันหลายชั่วโมง แพทย์สาขาอายุรกรรมท่านนี้บอกต่อว่า ยังเพิ่มปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคระบบหลอดเลือด เช่น ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำส่วนลึกได้ง่าย ส่วนมากจะเกิดกับผู้โดยสารบนเครื่องบินที่ต้องบินเป็นระยะเวลานานนับสิบชั่วโมงโดยไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวร่างกาย หรือคนขับรถเป็นเวลานาน เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้สูง
นอกจากนี้ยังรวมไปถึงโรคทางระบบเมตาโบลิก (ระบบการเผาผลาญพลังงานในร่างกายช้าลง) เป็นสาเหตุให้เกิดโรคน้ำหนักเกิน อ้วนลงพุง โรคเบาหวานชนิดที่สอง ระดับคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) ลดลง 20 เปอร์เซ็นต์ เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจได้สูง ตลอดจนโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ โรคทางกระดูกและกล้ามเนื้อ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี การลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคดังกล่าวนั้น แพทย์สาขาอายุรกรรมรายนี้ แนะนำสมาชิกทุกบ้านว่าควรออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการออกกำลังกายแบบแอโรบิกให้ได้ทุกวัน ประมาณวันละ 30-60 นาที ทั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและโรคอื่น ๆ ได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญควรลดการเวลาการนั่งนาน ๆ ด้วยการเปลี่ยนท่วงท่า หรือเดินยืดเส้นยืดสายบ้าง
 “คนที่ชอบนั่งทำงานอยู่กับที่ติดต่อกันหลายชั่วโมงควรเปลี่ยนท่าทางบ่อย ๆ โดยทุก 1 ชม. ควรใช้เวลาเดินเล่นหรือทำกิจกรรมอื่น ๆ บ้าง เช่น เดินขึ้นลงบันได 1-2 ชั้น หรือลดการพูดคุยสื่อสารทางอีเมล์ แต่ใช้การสื่อสารโดยตัวท่านเองในระหว่างเพื่อนร่วมงาน” แพทย์หญิงกรุณาฝากทิ้งท้าย
ไม่ว่าคุณจะเป็นเด็กเรียนที่นั่งหน้าคอม ดูซีรี่ส์ เล่นเกม หรือนั่งแชทกับเพื่อนทั้งวันทั้งคืนช่วงปิดเทอม หรือจะเป็นพนักงานออฟฟิศที่ต้องรีบเร่งทำงานส่งก่อนเวลาที่กำหนด หรือแม้กระทั่งอาชีพที่ต้องนั่งเฝ้าจอคอม จอทีวี จอมอนิเตอร์อยู่ตลอดเวลา อย่าง ยาม ผู้ดูแลผังรายการโทรทัศน์ ไอที นักเล่นหุ้น โอเปอเรเตอร์ พนักงานต้อนรับ และอื่นๆ หากคุณไม่ยอมลุกจากเก้าอี้บ้าง ระวังเสี่ยงเสียชีวิตจากโรคร้ายก่อนวัยอันควรมากกว่าเดิมถึง 33%
นั่งนาน ไม่ยอมลุกขึ้นขยับร่างกาย เสี่ยงเป็นโรคอะไรบ้าง

– โรคอ้วน
– เบาหวาน
– คอเลสเตอรอลสูง
– กล้ามเนื้ออ่อนแรง
– ข้อต่อกระดูกมีปัญหา
– ปวดเมื่อยเรื้อรัง (หากนั่งผิดท่า)
– โรคหัวใจ
– โรคไต
– โรคมะเร็ง
– โรคเครียด ซึมเศร้า
– ฯลฯ
คำแนะนำ
– ควรลุกขึ้นจากเก้าอี้ทุกๆ 1 ชั่วโมง เดินไปเดินมา 1-2 นาที ช่วยให้ระบบไหลเวียนโลหิต และระบบการย่อยอาหารของร่างกายทำงานได้ดีขึ้น หากกลัวลืมขยับ จะตั้งเวลาเตือนทุกๆ 1-2 ชั่วโมงก็ได้
– ลุกขึ้นเดินเข้าห้องน้ำ หยิบน้ำดื่มมาทานบ้าง ทุกๆ 1-2 ชั่วโมง
– ลุกขึ้นยืนโทรศัพท์ เดินคุย หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ขณะยืนหรือเดินบ้าง
– ระหว่างโดยสารรถกลับบ้าน ลองเลือกที่จะยืนแทนการนั่ง หรือเดินในระยะใกล้ๆ แทนใช้บริการรถรับจ้าง
– หากต้องนั่งนานๆ อย่างเลี่ยงไมได้ เช่น งานเร่งมาก หรืออยู่ในห้องประชุม ลองขยับแข้งขยับขา เปลี่ยนท่านั่ง หมุนข้อมือข้อเท้า และลุกขึ้นเดินหรือยืนเมื่อมีโอกาส
– เปลี่ยนจากการนั่งดูทีวี เป็นออกกำลังกายไปด้วย ดูทีวีไปด้วย
– อย่านั่งในห้องน้ำนานเกินไป
– ลดการสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่เป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ ความดัน และมะเร็ง
– หาเวลาออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

แค่ขยับ ก็เท่ากับออกกำลังกายนะคะ แต่ก็อย่าลุกแล้วเดินไปเดินมา หรือเม้าท์กับเพื่อนเพลินจนเจ้านายดุเอาล่ะ ทุกอย่างต้องมีความพอดีนะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก นิตยสาร สุขภาพดี และ healthmeplease.com ภาพประกอบจาก istockphotoเนื้อหาโดย : Sanook!
เวปอาหารสุขภาพ เวปเพื่อสุขภาพดีดีของคนไทย http://www.healthfood-th.com
หรือ เฟสบุ๊ค https://www.facebook.com/healthfoodproducts/