9 ปัญหาสุขภาพพัง ๆ ที่เกิดจากการนั่งหลังค่อม!
ท่านั่งตามความเคยชินอาจเป็นการพาตัวเองไปอยู่ในจุดที่สุ่มเสี่ยงต่อหลายปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะหากติดนิสัยนั่งหลังค่อม ขอให้รู้ไว้เลยว่าท่านั่งแบบนี้นอกจากจะทำให้บุคลิกภาพเสียแล้ว ร่างกายเรายังอยากตะโกนว่าเพลียหนักมาก เพราะต้องเจอกับปัญหาสุขภาพตั้งขนาดนี้แน่ะ !
1. ปวดหลัง
การยืนหรือนั่งหลังค่อมจะทำให้กระดูกสันหลังขดงอ ผิดรูป ซึ่งแรก ๆ กระดูกอาจไม่ได้รับผลกระทบอะไร แต่เมื่อนั่งหลังค่อมหรือยืนหลังค่อมติดเป็นนิสัย อาจทำให้กระดูกสึกกร่อนได้ง่ายขึ้น และการที่กระดูกอยู่ผิดรูปเป็นประจำ ก็จะทำให้รู้สึกปวดหลังขึ้นมาได้
2. ท้องผูก
นอกจากจะทำให้กระดูกสันหลังผิดรูปแล้ว การนั่งหลังค่อมยังเป็นต้นเหตุให้ลำไส้คดโค้งเกินความจำเป็น จนน้ำและการไหลเวียนอาหารในระบบลำไส้เกิดความติดขัด ซึ่งอาจก่ออาการท้องผูกตามมาในภายหลัง โดยเฉพาะกับผู้สูงอายุที่มักจะมีปัญหาเรื่องระบบขับถ่ายอยู่แล้ว ฉะนั้นหากไม่อยากทรมานกับอาการท้องผูก แนะนำให้ยืดหลังตรง ๆ เข้าไว้นะคะ
3. ท้องอืด ท้องเฟ้อ
เมื่อเรานั่งหลังค่อม งอช่วงลำตัว จนลำไส้ทำงานได้ไม่สะดวก ก็อย่างที่บอกว่าระบบลำไส้ การย่อยอาหาร การขับถ่าย อาจแปรปรวนไปด้วยได้ ฉะนั้นหากคนนั่งหลังค่อมจะมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อบ้างก็คงรู้แล้วใช่ไหมว่าเพราะอะไร
4. โรคแพนิค หรือโรคตื่นตระหนก
อีกหนึ่งโรคที่มีสาเหตุจากระบบประสาทซิมพาเทติกมีการตอบสนองที่ผิดปกติต่อร่างกาย ทำให้ผู้ป่วยถูกกระตุ้นต่อสิ่งเร้า ต่าง ๆ ได้ง่าย จนก่อให้เกิดอาการตื่นตระหนก หัวใจเต้นแรง อึดอัด แน่นหน้าอก และหายใจไม่ออก ซึ่งอย่าลืมนะคะว่า ภาวะระบบประสาทซิมพาเทติกผิดเพี้ยนอย่างนี้ การนั่งหลังค่อมก็มีส่วนอยู่ไม่น้อย
5. โรคซึมเศร้า
หลักฐานทางวิทยาศาสตร์แสดงให้เห็นว่า การจัดเรียงกล้ามเนื้อให้เป็นระเบียบสามารถส่งผลต่อความรู้สึกของเราได้ ย้ำด้วยการวิจัยที่ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Health Psychology ที่ระบุชัดเลยว่าแค่มีบุคลิกภาพที่ดี นั่งหลังตรง ไม่หลังค่อมก็ช่วยลดความเสี่ยงโรคซึมเศร้าได้แล้ว
เนื่องจากการนั่งหลังค่อมจะทำให้ร่างกายไม่แอ็คทีฟ แสดงให้เห็นถึงความรู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย และหมดแรง ซึ่งภาวะนี้ทางหลักจิตวิทยาก็ชี้ชัดว่าสามารถส่งต่อไปถึงอารมณ์ความรู้สึกของเราให้รู้สึกเฟล ๆ เศร้า ๆ ได้ด้วย
6. โรคอ่อนเพลีย
ถ้าพูดถึงโรคอ่อนเพลียกับการนั่งหลังค่อม ก็ต้องขอย้อนกลับมาที่ระบบประสาทซิมพาเทติก เพราะเจ้าระบบประสาทอัตโนมัติตัวนี้มีความเกี่ยวข้องกับอัตราการเต้นของหัวใจ และการหลั่งอะดรีนาลินของร่างกาย ซึ่งก็แปลได้ว่า เมื่อระบบประสาทซิมพาเทติกมีความผิดปกติจากการนั่งหลังค่อม อะดรีนาลินที่ช่วยกระตุ้นให้ร่างกายเกิดความกระชุ่มกระชวยก็จะถูกหลั่งออกมาน้อยลง พาให้เรารู้สึกซึม ๆ ง่วง ๆ อ่อนเพลียมากผิดปกตินั่นเอง
7. เป็นสิว และปัญหาผิวหนังอื่น ๆ
การนั่งหลังค่อมจะทำให้ระบบประสาทและการไหลเวียนของเลือดไม่คล่องตัว ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกหากคนที่นั่งหลังค่อมจะเป็นสิวได้ง่าย หรือต้องเจอกับปัญหาสุขภาพผิวหนังบ่อยกว่าคนที่มีบุคลิกภาพดี เพราะเมื่อระบบเลือดไหลเวียนไม่สะดวก การขับถ่ายของเสียที่คั่งค้างอยู่ภายใต้ผิวหนังก็จะติดขัด ก่อให้เกิดสิว ริ้วรอย และรอยแดงตามผิวหนังได้
8. ภูมิแพ้ไวเกิน (hypersensitivities)
อาการภูมิแพ้ไวเกินคือภาวะที่ผู้ป่วยแพ้ได้แม้กระทั่งสิ่งที่ไม่มีอัตรายต่อสุขภาพร่างกายเลยสักนิด ซึ่งโรคนี้อาจมีสาเหตุแรกเริ่มจากการนั่งหลังค่อมด้วยเช่นกัน
เนื่องจากการนั่งหลังค่อมอาจทำให้ระบบประสาทซิมพาเทติก ซึ่งเป็นระบบประสาทอัตโนมัติ อันประกอบไปด้วยเส้นประสาทไขสันหลังเกิดภาวะไวต่อสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ หรือมีการตอบสนองที่ผิดปกติต่อสารส่งผ่านประสาท จนทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ไวเกินได้ง่ายขึ้น
9. มีพุง
ปัญหาระบบย่อยอาหาร รวมไปถึงปัญหาเกี่ยวกับระบบขับถ่าย อาจเป็นหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เรามีพุงได้เหมือนกันนะคะ ดังนั้นนอกจากจะดีท็อกซ์เพื่อหน้าท้องที่ปราศจากพุงแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่แก้ได้ง่าย ๆ คือเลิกนั่งหลังค่อมแค่นั้นเอง
อย่างไรก็ดี การนั่งหลังค่อมอาจไม่ใช่บุคลิกส่วนตัวเพียงอย่างเดียว แต่จังหวะเผลอ ๆ อย่างการนั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือการนั่งเล่นสมาร์ทโฟนก็อาจเปิดโอกาสให้เรานั่งหลังค่อมได้โดยที่ไม่ทันได้รู้ตัว ฉะนั้นหากรู้สึกว่าหลังไม่ตรงเมื่อไร ก็ควรรีบยืดตัวขึ้นทันทีนะคะ
และการเลือกเก้าอี้ก็ยังเป็นส่วนหนึ่งที่ให้อาการเหล่านี้หายไป ถ้าหากเราเลือกนั่งเก้าอี้ที่ดีๆ นั่งอย่างถูกวิธีและถูกออกแบบมาตามหลักสรีรศาสตร์ก็จะช่วยลดอาการต่างๆได้ DF Prochair เก้าอี้เพื่อสุขภาพ สามารถช่วยคุณได้