กลุ่มโรคที่มากับ “น้ำท่วม” อันตรายที่มาพร้อมหน้าฝน

แชร์
KNOW

กลุ่มโรคที่มากับ “น้ำท่วม” อันตรายที่มาพร้อมหน้าฝน

แม้ว่าหลายคนจะชอบหน้าฝน เพราะอากาศดี หายร้อน สดชื่น แต่ด้วยสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อากาศเย็น มีความชื้นสูง และยังอาจเกิดภาวะน้ำท่วมฉับพลันขึ้นได้ หน้าฝนที่แสนชุ่มฉ่ำก็เลยมีของแถมเป็นโรคภัยไข้เจ็บมาด้วยเสมอ

โรคที่เกิดจากยุง ได้แก่ โรคไข้เลือดออก ไข้มาลาเรีย

ลักษณะอาการ

  • โรคไข้เลือดออก เกิดจากยุงลายเป็นพาหะ พบได้ตามชุมชนทั่วไปที่เป็นที่มืดและอับ และมีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ผู้ป่วยจะปวดศีรษะ มีไข้สูงลอย แต่ไม่มีอาการไอและน้ำมูก เบื่ออาหาร ปวดท้อง ท้องเสีย อาเจียน มีจุดเลือดออกสีแดงจ้ำเขียวขึ้นตามผิวหนัง
  • โรคไข้มาลาเรีย มียุงก้นปล่องที่มักจะชุกชุมแถวป่าเขาเป็นพาหะ ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัว ไม่มีน้ำมูก และมีอาการหนาวสั่น ปากซีดตัวซีด ผิวหนังแห้งหยาบ มีเหงื่อออกจนร่างกายเปียกชุ่ม ร่างกายอ่อนเพลีย

 

การป้องกัน

  • ระวังอย่าให้ถูกยุงกัดไม่ว่าจะกลางวันหรือกลางคืน โดยนอนในมุ้ง
  • สวมใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดร่างกายมิดชิด ร่วมกับใช้สารกันยุงทั้งแบบทาตัวและแบบไล่ยุงในห้อง
  • กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ด้วยการปิดฝา คว่ำ หรือทำลายภาชนะไม่ให้มีน้ำขัง ใช้ผงซักฟอกหรือทรายอะเบทเพื่อใส่ตามกระถาง จานรองขาตู้ เพื่อกำจัดลูกน้ำยุงลาย หรือจะเลี้ยงปลาที่กินลูกน้ำเป็นอาหาร เช่น ปลาหางนกยูง ปลากัด ในแหล่งน้ำที่ไม่ได้ใช้ดื่มกิน

 

โรคผิวหนัง ได้แก่ ผื่นคัน โรคเชื้อรา น้ำกัดเท้า

ลักษณะอาการ

  • ผื่นคัน เกิดจากการย่ำน้ำ แล้วเกิดระคายเคืองหรือแพ้สัมผัส จะมีอาการเป็นผื่นหรือตุ่มคันที่บริเวณที่สัมผัสน้ำ หรืออาจถูกยุงกัด มักขึ้นพร้อมกันหลายจุด
  • โรคเชื้อรา เกิดจากการติดเชื้อรา จะมีอาการเป็นผื่นเปื่อยยุ่ย สีขาวที่ง่ามนิ้วเท้า ฝ่าเท้า อาจมีอาการคัน
  • โรคน้ำกัดเท้า เกิดจากการแช่เท้าในน้ำนาน ๆ จนมีการติดเชื้อตามมา โดยจะมีอาการผิวหนังเปื่อยยุ่ย ลอกเป็นขุยหรือเป็นแผ่น คันตามซอกนิ้วเท้า ต่อมามีผื่นพุพอง ผิวหนังอักเสบบวมแดง เป็นหนอง (ซึ่งมักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน)

 

การป้องกัน

  • ควรสวมรองเท้าบู๊ตกันน้ำทุกครั้งเมื่อจำเป็นต้องลุยน้ำ
  • ควรระวังไม่ให้ถูกยุงกัด
  • ใช้ขี้ผึ้งวาสลิน ขี้ผึ้งรักษากลากเกลื้อน หรือจาระบีทาเท้าและง่ามนิ้วเท้าให้ทั่วทั้งสองข้างเมื่อต้องลุยน้ำ
  • เมื่อขึ้นจากน้ำ ล้างเท้าให้สะอาดด้วยน้ำ ฟอกสบู่ และซับให้แห้งทันที

 

โรคระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ โรคไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ปอดอักเสบ

ลักษณะอาการ

  • มีอาการไข้ เจ็บคอ มีน้ำมูก ไอ
  • ไข้หวัดใหญ่ มักมีอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย และเบื่ออาหารร่วมด้วย
  • ปอดอักเสบ มักมีอาการไอ มีเสมหะเหลืองหรือเขียว เจ็บหน้าอก และหายใจลำบาก หายใจหอบ

 

การป้องกัน

  • ดูแลร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ
  • อย่าให้ตัวเองเปียกฝน หลีกเลี่ยงการเล่นน้ำหรือแช่น้ำเป็นเวลานาน
  • ไม่สวมเสื้อผ้าที่เปียกชื้น เช็ดตัวให้แห้งอยู่เสมอ หากอากาศเย็นให้สวมใส่เสื้อผ้าที่ทำให้ร่างกายอบอุ่น
  • หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วย ไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้ป่วย สวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องอยู่ใกล้ชิดผู้ป่วย
  • ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์
  • สำหรับผู้ที่อายุมากกว่า 65 ปี ผู้ที่มีโรคประจำตัว หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่สูบบุหรี่ หรือมีภาวะอ้วน ควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ป้องกันด้วย

 

โรคระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ อาหารเป็นพิษ ท้องเสีย โรคบิด อหิวาตกโรค ไข้ไทฟอยด์

ลักษณะอาการ

  • มีอาการถ่ายท้องอย่างต่อเนื่อง ถ่ายเหลว ถ่ายเป็นน้ำ หรือถ่ายโดยมีมูกเลือด นอกจากนี้ยังปวดท้องรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน และอาจมีไข้ร่วมด้วย
  • สำหรับไข้ไทฟอยด์ มักมีไข้สูงตลอดเวลานานเป็นสัปดาห์ ปวดศีรษะ นอนซม และเบื่ออาหาร

 

การป้องกัน

  • ป้องกันด้วยหลักการ สุก ร้อน สะอาด ล้างมือ
  • กินอาหารที่ปรุงสุกและสะอาด ไม่กินอาหารที่มีแมลงวันตอม หรือทิ้งค้างคืนจนบูดเสีย หรือมีกลิ่นบูด
  • ดื่มน้ำสะอาด หากเป็นไปได้ให้นำน้ำไปต้มให้สุก เพื่อฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่อาจปนเปื้อนมาในน้ำ
  • หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำกับสบู่ ทั้งก่อนปรุงและเตรียมอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร และหลังการขับถ่าย (ทั้งผู้ป่วยและคนทั่วไป)
  • ห้ามถ่ายอุจจาระลงน้ำเด็ดขาด ให้ใช้ส้วมที่ดัดแปลงเฉพาะ หรือถ่ายลงถุงพลาสติก แล้วใส่ปูนขาวลงไปด้วย ปิดปากถุงให้แน่น แล้วนำไปใส่ในถุงขยะเพื่อกำจัดทิ้ง

 

โรคติดต่ออื่น ๆ เช่น ฉี่หนู โรคตาแดง

ลักษณะอาการ

  • โรคฉี่หนู หรือเล็ปโตสไปโรซิส ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อน่อง ตาแดง ตาเหลือง สามารถรักษาเบื้องต้นเช่นเดียวกับผู้ป่วยไข้เลือดออกและไข้มาลาเรีย
  • โรคตาแดง หรือเยื่อตาขาวอักเสบเกิดจากเชื้อไวรัส จะมีอาการระคายเคืองที่ดวงตา ปวดตา แสบตาเมื่อเจอแสง น้ำตาไหล มีขี้ตา หนังตาบวม ตาแดง อาจเริ่มมีอาการที่ตาข้างใดข้างหนึ่งก่อน แล้วลามไปอีกข้าง บางรายมีไข้ร่วมด้วย

 

การป้องกันโรคฉี่หนู

  • หลีกเลี่ยงการแช่น้ำหรือลุยน้ำย่ำโคลนโดยไม่ป้องกัน เมื่อต้องลุยน้ำควรสวมรองเท้าบู๊ตยางกันน้ำ โดยเฉพาะผู้ที่มีบาดแผลต้องระวังเป็นพิเศษ
  • อาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาดและซับให้แห้งทันทีหลังจากขึ้นจากน้ำ
  • ใส่ใจสุขอนามัยของอาหาร เก็บอาหารในภาชนะที่ปิดมิดชิด ส่วนขยะให้ใส่ถุงพลาสติกหรือถังขยะที่ปิดมิดชิด เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของหนู
  • ดูแลที่พักให้สะอาด ไม่ให้เป็นที่พักของหนู

 

การป้องกันโรคตาแดง

  • ไม่ควรขยี้ตา และระวังอย่าให้แมลงตอมตา
  • ไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับคนอื่น โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคตาแดง
  • หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำกับสบู่

 

โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ

ลักษณะอาการ

ถ่ายปัสสาวะแสบขัด กะปริดกะปรอย ปวดท้องน้อย บางรายอาจถ่ายปัสสาวะเป็นเลือด และอาจมีไข้ร่วมด้วย ซึ่งโรคนี้อาจเกิดขึ้นเนื่องจากติดเชื้อ เพราะการอั้นปัสสาวะนาน ๆ อาจด้วยความไม่สะดวก ห้องน้ำไม่พร้อมใช้งาน หรือความกลัวสัตว์ร้ายที่หนีเข้าในห้องน้ำ มักพบในผู้หญิงได้บ่อยกว่าผู้ชาย

 

การป้องกัน

  • ทำความสะอาดอวัยวะสำหรับขับถ่ายทั้งหนักและเบาให้สะอาด ควรเช็ดให้แห้ง เพื่อไม่ให้อับชื้นจนเกิดเป็นเชื้อรา
  • ไม่อั้นปัสสาวะ

VIA SANOOK
ภาพ : iStock